กลางเดือนพฤศจิกายน 2548 สายน้ำได้โหมกระหน่ำเข้าท่วมอำเภอบางสะพานอย่างหนักในรอบ 55 ปี สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม หลังน้ำลดกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากได้กระแทกหน้าดินบริเวณคลองทอง ตำบลร่อนทองลอยไปกับสายน้ำ เผยให้เห็นเกร็ดทองติดอยู่ตามซอกหินและเศษดิน จากวันนั้นจนทุกวันนี้ ยังคงมีชาวบ้านและผู้คนจากต่างถิ่นเข้ามาแสวงโชคร่อนทองอยู่ไม่ขาดสาย
สำหรับชาวบางสะพานแล้ว การขุดพบทองคำไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไร เพราะแต่เดิมพื้นที่ตำบลร่อนทองเคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองกำเนิดนพคุณ ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองจึงถูกตั้งเป็นอำเภอบางสะพาน โดยบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีการขุดพบแร่ทองคำเป็นจำนวนมาก
การขุดและร่อนทองในอำเภอบางสะพานครั้งแรกเกิดขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในปี พ.ศ. 2289 ผู้ตั้งเมืองกุยได้ส่งทองร่อนหนัก 3 ตำลึง ถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์จึงเกณฑ์ไพร่จำนวน 2,000 กว่าคน ไปร่อนทองที่บางสะพานเป็นเวลาปีเศษ ได้ทองคำหนัก 90 ชั่งเศษ คิดเป็นน้ำหนัก 54 กิโลกรัม หรือ 3,600 บาทในสมัยนั้น จากนั้นนำทองทั้งหมดไปแผ่เป็นทองแผ่นใหญ่หุ้มยอดมณฑป พระพุทธบาทสระบุรี
ทองคำจัดอยู่ในกลุ่มแร่โลหะมีค่าเช่นเดียวกับ แร่เงิน และทองคำขาว ลักษณะการเกิดของทองคำมักเกิดเป็นธาตุอิสระในธรรมชาติ โดยอาจจะเกิดจากการผสมกับธาตุอื่น
ตำนาน…ทองคำบางสะพาน
ทองคำบางสะพาน มีหลักฐานในพงศาวดาร พระสมัยของพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ ใน พ.ศ.2289-2291 ได้มีการเกณฑ์ไพร่พลจำนวน 2 พันคน มาร่อนทองที่บางสะพาน ได้ทองคำ 90 ชั่ง น้ำหนัก 54 กิโลกรัม หรือน้ำหนักทอง 3,600 บาท นำไปหุ้มยอดมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี นอกจากนี้ ในวรรณคดีขุนช้าง ขุนแผน ได้กล่าวถึงการนำทองบางสะพานไปทำ “ดาบฟ้าฟื้น” ของขุนแผน ความตอนหนึ่งระบุว่า “เอาไม้ระงับสรรพยามาทำฝัก ประสมผงลงรักให้ผิวผ่อง กาบหุ้มต้นปลายลายจำลอง ทำด้วยทองถ้วนบาทชาติ บางตะพาน” ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่าบางสะพาน ดาบฟ้าฟื้นของของขุนแผนนั้น ถือเป็นดาบอันศักดิ์สิทธิ์คู่กายของขุนแผน ชี้ไปทางไหนข้าศึกก็จะพ่ายแพ้ทุกทิศทาง
แหล่งแร่ทองคำ
แหล่งแร่ทองคำมี 2 ชนิด แบ่งเป็นแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ โดยแบบปฐมภูมิส่วนใหญ่มักจะมีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้แว่นขยายส่องดู เป็นส่วนน้อยที่จะมีขนาดโตพอที่จะเห็นได้ชัดเจน ส่วนแบบทุติยภูมิมักจะพบเป็นเม็ดกลม เกล็ดหรือไรเล็กๆ เกิดจากการผุพังของหินที่มีแร่ทองคำแบบปฐมภูมิแล้วถูกน้ำชะล้างพัดพาไปสะสมตัวใหม่ในบริเวณต่างๆ เช่น เชิงเขา ลำห้วย หรือในตะกอนกรวดทรายในลำน้ำใหญ่
สำหรับคุณสมบัติของทองบางสะพานหรือทองบางตะพานมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘ทองนพคุณ’ หรือ ‘นพคุณเนื้อเก้า’ เป็นทองที่พบในธรรมชาติ ทองร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องถลุงจะเห็นเป็น ‘Nuggest’
อีกความหมายหนึ่งอธิบายตามหนังสือประชุมประกาศสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกไว้ว่า ทองคำที่ซื้อขายกันนั้น เรียกตามเนื้อและตามราคา เช่น ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 4 บาท เรียกว่า เนื้อสี่ ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 5 บาท เรียกว่า ทองเนื้อห้า ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 8 บาท 2 สลึง เรียกว่า ทองเนื้อแปดสองขา ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน 9 บาท เรียกว่านพคุณเก้าน้ำ ดังนั้นทองนพคุณเนื้อเก้า จึงหมายถึง ทองที่มีราคาเก้าบาทต่อน้ำหนัก 1 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าทุกแหล่งในประเทศไทย และเชื่อว่าเป็น ‘แหล่งทองคำเนื้อดีที่สุดของไทย’